ในอดีตกาลนานมาแล้วมีเรื่องเล่าสืบทอดต่อกันมาว่า ในสมัยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ครองเมืองนครศรีธรรมราชอยู่นั้นได้มีทหารรับใช้ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ขุนราม ต่อมาขุนรามได้ไปแอบรักใคร่ชอบพอกับนางสนมคนหนึ่งที่มีชื่อว่า นางพริ้ม และต่อมานางพริ้มก็เกิดตั้งท้องขึ้นมา ทั้งสองจึงแอบหนีออกจากพระราชวังเพราะกลัวความผิดเพราะโทษนั้นก็คือการประหารชีวิต  ทั้งสองจึงพากันหลบหนีโดยมาลงเรือแจวที่อำเภอปากพนัง และขึ้นฝั่งที่ท่าเรืออำเภอชะอวด เมื่อทั้งสองแอบหนีออกมาแล้ว ความทราบถึงพระเจ้าศรีธรรมโศกราชผู้เป็นเจ้าเมือง  จึงสั่งให้ทหารออกติดตามจับตัวและประหารชีวิตเสีย  และเมื่อขุนรามและนางพริ้มขึ้นฝั่งที่ท่าเรืออำเภอชะอวดก็บุกป่าหลบหนีเดินทางไปพักที่กระท่อมร้างแห่งหนึ่ง  เมื่อเข้าไปพักในกระท่อมก็กลัวว่าชาวบ้านในบริเวณนั้นจะเห็นจึงหักกิ่งไม้เสียบไว้ที่ประตูเพื่อทำเครื่องหมายบอกให้ชาวบ้านที่ผ่านไปมาแถวนั้นว่าไม่มีใครอยู่ในกระท่อม 
(บริเวณดังกล่าวเรียกกันว่าบ้านจุกตู)  ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบ้านตุ๊กตู 

         ต่อมาได้ทราบว่าข่าวจากชาวบ้านมีทหารติดตามมาจึงรีบเดินทางเพื่อไปบ้านป่าพะยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง  โดยเดินทางผ่านมาทางเขาพระทองและพักที่นั่นเป็นเวลาหนึ่งคืนรุ่งเช้าจึงออกเดินทางต่อ เมื่อเดินทางมาระยะหนึ่งก็ได้พบกับนายเดชที่ต้อนควายฝูงเพื่อไปเหยียบที่นา ขุนราม  ซึ่งไม่คุ้นเคยกับเส้นทางจึงออกไปดักรออยู่ข้างหน้าเพื่อถามทางโดยปักหอกชัยที่ถือติดกับตัวแล้วขึ้นไปนั่งบนปลายหอก เมื่อนายเดชต้อนควายฝูงเข้ามาใกล้ ขุนรามจึงร้องตะโกนถามว่าป่าพะยอมไปทางไหน  นายเดชเมื่อได้ยินเสียงและเห็นว่ามีคนดักหน้าอยู่ ก็บอกควายฝูงให้หยุดอยู่กับที่และเห็นขุนรามนั่งบนปลายหอก เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถเราก็เป็นศิษย์ที่มีครูจึงปักไม้เรียวที่ไล่ควายบนพื้นแล้วขึ้นนั่งปลายไม้เรียว  พูดจาถามไถ่เป็นที่เข้าใจและเห็นว่ามีความสามารถเท่าเทียมกันทั้งสอง จึงร่วมตกลงเป็นเกลอกัน เมื่อขุนรามทราบว่าทางไปป่าพะยอมไปทางใดก็ออกเดินทางต่อ (บริเวณดังกล่าวเรียกว่าบ้านลาไม  หมายถึง  การลามิตรไมตรี) โดยผ่านลานข่อยและในเวลานั้นขุนรามก็ได้เกิดเป็นไข้ป่า ทหารที่ติดตามมาก็ตามมาทันจนมีการต่อสู้กันเกิดขึ้น แต่ขุนรามสู้กับทหารไม่ไหวเพราะพิษไข้จึงถูกจับตัวได้  (บริเวณดังกล่าวเรียกว่าบ้านโคกคลาน หมายถึง การสู้รบกันอย่างหนักจนหมดแรงจนถึงกับคลาน) ทหารจึงเข้าไปขออนุญาตจับตัวขุนรามและภรรยา   ทั้งสองจึงยอมจำนนให้จับตัวทหารจึงนำตัวทั้งสองไปประหารชีวิต  โดยเลือกเอาบริเวณทางสี่แพร่ง (ทางสี่แยก) เมื่อได้บริเวณที่จะประหารทหารก็ได้ตีเกาะเพื่อบอกกล่าวให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการประหารชีวิต  บริเวณดังกล่าวเรียกว่าบ้านเกาะร้าวหมายถึง การตีเกาะบอกกล่าวของทหาร) เมื่อได้ฤกษ์ยามเวลาก็นำบุคคลทั้งสองเข้าหลักประหารชีวิต

         โดยนำอ่างทองมารับโลหิตของขุนราม และนำอ่างเงินมารับโลหิตของนางพริ้มเพราะพระเจ้าศรีธรรมโศกราชกล่าวว่าอย่าให้โลหิตทั้งสองตกเปื้อนรดแผ่นดิน และให้นำศีรษะของทั้งสองตัดไปเสียบประจาร  ทหารจึงนำศีรษะของทั้งสองไปเสียบประจารไว้ที่บริเวณใกล้ ๆ กับหลักประหารโดยใช้ไม้ไผ่ตงปักเอาปลายลงแล้วนำศีรษะของทั้งสองไปเสียบไว้ (บริเวณดังกล่าวเรียกว่าบ้านไม้เสียบ หมายถึง การเสียบศีรษะประจาร) และนำอ่างทั้งสองปล่อยให้ ลอยไปตามกระแสน้ำ อ่างทั้งสองใบลอยไปเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน และลอยไปติดซั้งดักปลาของชาวบ้าน อ่างทั้งสองใบจึงจมลงที่วังวนน้ำลึกก่อนจมได้มีฝนตกหนักและลมแรงแต่เมื่ออ่างได้จมหายไปเหตุการณ์ก็เป็นปกติ  หลังจากนั้นเมื่อถึงวันพระ ไม่ว่าจะเป็น 8 ค่ำและ 15 ค่ำ จะมีอ่างสองใบลอยขึ้นเหนือน้ำให้ชาวบ้านเห็นเป็นประจำทุกๆ เดือน ชาวบ้านมองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์  เมื่อเกิดมีความทุกข์ร้อนใจก็ไปบนบาลขอความช่วยเหลือและก็จะได้รับผลตามปรารถนาทุกประการ ต่อมาเมื่อนายเดชทราบว่ามิตรสหายถูกประหารชีวิตจึงออกบวช และกลายเป็นเสือ ชาวบ้านจึงได้ตั้งศาลาไว้ที่ท่าน้ำ เพื่อเป็นที่สักการบูชาขุนรามและนางพริ้ม จึงได้ขนานนามบริเวณนั้นว่า บ้านวังอ่าง  ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 และตั้งศาลไว้ที่บ้านลาไม  ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ของตำบลวังอ่างตั้งแต่บัดนั้นมาถึงปัจจุบัน